วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สื่อออนไลน์ เป็นมิตรหรือภัย!?



อินเทอร์เน็ต ถือเป็นสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในทุกเพศทุกวัย โดยไม่จำกัดแค่เฉพาะวัยรุ่น หรือวัยทำงานเท่านั้น ในวัยผู้สูงอายุ ก็สามารถเปิดโลกทัศน์ในโลกออนไลน์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น รับส่งอีเมล์ ค้นหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรมค้นหา ติดตามข่าวสาร เช็ค สภาพอากาศ ดูข้อมูลการเดินทาง หรือข้อมูลด้านการเมือง รวมทั้งใช้เว็บเครือข่ายสังคม เพื่อปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีเว็บที่จัดทำสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และเน้นการใช้งานที่สะดวก และง่าย เช่น ด้านสุขภาพ การักษาสุขภาพ เป็นต้น


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการ และประธานผู้บริหารวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สะท้อนมุมมองว่า ปัจจุบันผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้ทดลองใช้งานคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัยที่สำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี สารสนเทศ และความรู้ในกลุ่มผู้สูงวัย ทำให้มีความภาคภูมิใจ และรู้จักคุณค่าของตัวเองในการทำอะไรต่างๆ ได้เอง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายมากขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ต ในการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกหลาน


แต่ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่า อินเทอร์เน็ต จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี สารสนเทศก็ตาม บางครั้งอาจเกิดการรู้ไม่เท่าทันภัยในโลกออนไลน์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้สูงวัยเองก็เป็นได้ กรณีนี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ แนะนำว่า ผู้สูงวัยต้องระวังการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงในเรื่องการประกันสุขภาพ ยาปลอม ผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่ การค้าออนไลน์ หรื่ออื่นๆ ด้วย เพราะพวกมิจฉาชีพมักคิดว่า ผู้สูงอายุเป็นเหยื่อที่หลอกง่าย เชื่อง่าย สอดรับกับการรายงานของสำนักสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ที่ระบุว่า ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเป้าหมายของการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี ไม่ค่อยกล้าปฎิเสธ รู้ไม่เท่าทันวิธีการฉ้อโกง เวลาถูกฉ้อโกงมักจะไม่กล้าแจ้งให้บุตรหลานทราบ และไม่รู้ข้อมูลมิจฉาชีพ เช่น ไม่รู้ว่ามิจฉาชีพเป็นใคร จำวันติดต่อไม่ได้ หรือจำที่อยู่ไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจสิ่งใด ให้ปรึกษาคนในครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญที่มี่ความรู้ หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก่อนตัดสินใจ


อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ศรีศักดิ์ ได้แบ่งประเภทของการฉ้อโกงที่น่าจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยไว้ดังต่อไปนี้ เพื่อรู้เท่าทัน และป้องกันตัวเองจากการฉ้อโกงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี การโฆษณาเรื่องการประกันสุขภาพ มักแอบแฝงมากับเว็บต่างๆ เช่น เว็บบริษัทประกันชีวิต, เว็บชมรมคนรักสุขภาพ, เว็บบ้านพักผู้สูงวัย เป็นต้น ในส่วนของการฉ้อโกงมีหลายรูปแบบ เช่น ให้กรอกแบบฟอร์มผลสำรวจด้านสุขภาพผู้สูงวัยแลกกับของรางวัล, ให้เซ็นสัญญาเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ โดยอ้างว่าจะได้รับคำปรึกษาสุขภาพฟรีจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และหลังจากนั้นจะมีใบเสร็จเรียกเก็บเงินส่งมาที่บ้านนอกจากนี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ ยังบอกถึงการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตอื่นๆ ด้วยว่า ยังมีในเรื่องของการทำธุรกรรมธนาคารทางอินเทอร์เน็ต การซื้อตั๋วทางอินเทอร์เน็ต การล่อลวงทางเว็บเครือข่ายสังคมเพื่อรู้ข้อมูลบัตรเครดิต การกู้ยืมเงินทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งผู้สูงวัยต้องรู้เท่าทันด้วย


อย่างไรก็ดี การใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้สูงวัย เสมือนเป็นดาบสองคม แง่หนึ่งก็มีประโยชน์ แต่อีกแง่ก็มีโทษเช่นกัน ดังนั้นควรเล่นอย่างระมัดระวัง ไม่หลงใหลกับโฆษณาชวนเชื่อตามเว็บต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะแต่เพียงผู้สูงวัยเท่านั้น คนหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่บางคน อาจตกหลุมพรางของกลลวงจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์ก็เป็นได้



เรื่องราวของพวกมิจฉาชีพที่หากินทางสื่อออนไลน์นี้ ในข่าวเราจะได้ยินกันบ่อยๆ อยู่แล้ว ดิฉันคิดว่าการทำธุรกรรมใดๆ ทางอินเตอร์เนตนั้นมันสะดวก สบายและรวดเร็ว ดีก็จริง แต่ก็อย่างที่ข้อมูลข้างต้นว่า มันค่อนข้างจะอันตรายสักหน่อย เพราะว่ามันเป็นการทำธุรกรรมทางสื่อออนไลน์ ซึ่งไม่สามารถเห็นของจริง เห็นผู้ติดต่อจริง บางทีเราอาจเสียรู้กลลวงของพวกมิจฉาชีพได้


เพื่อนดิฉันเคยสั่งซื้อของจากอินเตอร์เนต แล้วเจ้าของสิ่งของก็บอกไว้ว่า ต้องโอนเงินมาก่อนของถึงจะส่งไปให้ ในบางเว็บก็เชื่อถือได้ และบางเว็บก็เชื่อถือไม่ได้ และเว็บที่เพื่อนดิฉันสั่งซื้อของ เมื่อโอนเงินไปให้แล้ว เขากลับไม่ส่งของมาให้ ติดต่อก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าเสียเงินฟรีไป


ดังนั้นเมื่อท่านต้องการที่จะทำธุรกรรมใดๆ ควรจะตรวจดูให้รอบคอบเสียก่อนที่จะเสียเงินไปฟรีๆ แต่ว่าในบางทีมันก็ตรวจสอบยาก บางทีก็โชคไม่ดี และอาจโดนกลลวงสารพัดของพวกมิจฉาชีพหลอกเอาด้วย เพราะฉะนั้นควรต้องระวังอย่างมากในการใช้สื่อออนไลน์นี้ ไม่เพียงแต่แค่พวกมิจฉาชีพเท่านั้นยังมีพวกที่ไม่หวังดีที่แฝงตัวบนโลกอินเตอร์เนตและใช้สื่อออนไลน์ทั้งหลายหลอกล่อให้เราติดกับอีกมากมาย







ข้อมูลอ้างอิง เชียงใหม่นิวส์ http://www.chiangmainews.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น